ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานกว่า600ปี และมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430
การค้าญี่ปุ่น-ไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าทั้งสิ้น 41,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าสองฝ่ายเมื่อปีก่อน ร้อยละ 14.9 ซึ่งทางไทยได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 15,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8
สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ส่วนประกอบ เครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ทำงานเป็นเอกเทศ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เหล็กแผ่นชุบ รถบรรทุก แบบหล่อสำหรับโลหะและวัสดุ และอื่น ๆ
สินค้าส่งออกจากไทยมี เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ไก่สดแช่เย็น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เครื่องรับโทรศัพท์และส่วนประกอบ เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ
การลงทุนปีเมื่อปี 2548 ญี่ปุ่นได้ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,613.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,680.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ รถยนต์ และเครื่องจักร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.1 รองลงมาคือสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.3 (ข้อมูลจากสำนักงาน BOI กรุงโตเกียว)
ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2548 มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเยือนไทยจำนวน 1,196,654 คน คิดเป็นร้อยละ 10.35 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย และมีชาวไทยเดินทางเยือนญี่ปุ่นจำนวน 168,456 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.68 คิดเป็นร้อยละ 5.53 ของชาวไทยที่เดินทางเยือนต่างประเทศ คิดเป็นลำดับที่ 6
กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ
· การหารือหุ้นส่วนการเมืองไทย- ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations– JTPPC) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ตุลาคม 2548 เป็นการหารือประจำปีระหว่างปลัด กต.ไทยกับรองปลัด กต.ด้านการเมืองของญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประสานช่วงวันหารือที่เหมาะสมสำหรับการหารือครั้งที่ 3
· การประชุมประจำปีทวิภาคีด้านการเมืองและการทหาร (Politico- Military / Military- Military Consultations) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 22- 23 มีนาคม 2549 โดยฝ่ายไทยมีนายสุรพล เพชรวรา รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต. และ พล.ท. นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กห. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ฝ่ายไทยกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั่งที่ 7 ในปี 2550
· คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย- ญี่ปุ่น ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฝ่ายไทยเสนอแนวคิดดังกล่าวในพฤษภาคม 2548 เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาคนไทยในญี่ปุ่น โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำ Concept Paper เสนอฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อกรกฎาคม 2548 และได้จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 เมื่อ 15 พฤษภาคม 2549 โดยสามารถตกลงกันใน Concept Paper และแนวทางการดำเนินความร่วมมือในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
· การประชุมความร่วมมือทางวิชาการ หุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation - JTPP) หลังจากที่ไทยปรับบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้รายใหม่ ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนไปจากการให้ความช่วยเหลือเป็นความร่วมมือในระดับหุ้นส่วน โดยฝ่ายไทยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณารูปแบบการดำเนินการรูปแบบใหม่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับ
· การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA)
ภายหลังการศึกษาร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นซึ่งมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการเข้าร่วม ในช่วงปี 2545 - 2546 การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นจึงได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และหลังจากการเจรจาหลายครั้งไทยกับญี่ปุ่นสามารถบรรลุความตกลงในหลักการขององค์ประกอบที่สำคัญของ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศการบรรลุความตกลงในหลักการดังกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1 กันยายน 2548 ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) และการเกษตร
ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเจรจาได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร การค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคลและการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกันไทยได้เปิดเสรีเหล็กยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการสาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ในระดับและระยะเวลาทยอยเปิดเสรีที่เอกชนไทยน่าจะรับได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย
นอกจากการลงนามในร่างความตกลงฯแล้ว ไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงให้มีการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ 7เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์พลังงาน เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเกษตร
สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่าการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจจะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนาจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้กล่าวถึงผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยจากเรื่องขยะ ของเสียอันตรายที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความตกลงนี้ เช่น การใช้มาตรการปกป้องสองฝ่ายที่กำหนดไว้ใน JTEPA นั้น สามารถใช้ได้เพียงกรณีที่เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้รวมถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากมีปัญหามลพิษเกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะของเสียอันตราย ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้มาตรการปกป้องได้
เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทย
ชื่อ-สกุล: ชิเกะคะสุ ซะโต (นาย)
วันเดือนปีเกิด: 23 กันยายน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492)
ประวัติการทำงาน:
มี.ค. 2517 - สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว
ส.ค. 2518 - ศึกษาภาษาจีนที่ สถาบันภาษาปักกิ่ง
ก.ย. 2519 - ศึกษาวรรณคดีจีนที่ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น
มิ.ย. 2521 - สำเร็จการศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ส.ค. 2527 - เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสหรัฐอเมริกา
ธ.ค. 2529 - เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน
ก.พ. 2534 - ผู้อำนวยการ กองวางแผนความช่วยเหลือ กรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ก.ค. 2535 - ผู้อำนวยการ กองความช่วยเหลือเงินกู้ยืม กรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ส.ค. 2537 - ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสหรัฐอเมริกา
ก.ค. 2538 - ผู้อำนวยการ กองจีน กรมเอเชีย
ก.ย. 2541 - ผู้อำนวยการ กองบริหารงานบุคคล สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
เม.ย. 2544 - รองอธิบดี กรมเอเชียและโอเชียเนีย (Oceania)
ก.ย. 2545 - อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ต.ค. 2547 - อธิบดี กรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ส.ค. 2549 - กงสุลใหญ่และเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ประจำฮ่องกง
ก.ค. 2553 - เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำออสเตรเลีย
พ.ย. 2555 - เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย
สถานภาพครอบครัว: สมรส มีบุตร 3 คน